วิธีทำสต็อคน้ำนมแม่ให้ลูกน้อยได้ทานได้นานๆ และวิธีเก็บรักษาน้ำนมแม่
สวัสดีค่ะคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เมื่อคุณแม่มีลูกน้อย ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้ตั้งแต่เจ้าตัวน้อยยังอยู่ในครรภ์ คือเราอยากเลี้ยงเค้าให้ดีที่สุด และด้วยอาหารที่ดีทีสุดในโลกนี้สำหรับเจ้าตัวน้อยแล้วก็คือน้ำนมแม่นั่นเอง
คุณแม่หลายท่านมีความตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่เจ้าตัวน้อยยังไม่คลอดเลยด้วยซ้ำคือการให้นมลูกน้อยด้วยนมแม่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ (หลายคนภาวนาว่าขอให้มีน้ำนมเยอะๆ ^_^ ขอให้ปั๊มนมเก็บได้นานๆ ^_^)
และเมื่อถึงวันที่รอคอยมาถึง คุณแม่หลายท่านอาจจะยังมีความสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับการเก็บรักษาน้ำนมแม่ เก็บยังงัยให้ถูกวิธี เก็บให้ได้เป็นปีทำได้ด้วยหรือ น้ำนมน้อยจะปั๊มยังงัยให้พอลูกได้กินไปได้นานๆ
วันนี้แม่ยุ้ยรวบรวมวิธีทำสต็อคน้ำนมและการเก็บรักษาน้ำนมแม่มาฝากกันค่ะ
วิธีการให้นม และวิธีการปั๊มนม เก็บนมเพื่อรักษาระดับการสร้างน้ำนมเมื่อคุณแม่ต้องแยกจากลูกชั่วคราว หรือเมื่อคุณแม่ต้องไปทำงาน
นอกจากการเข้าเต้าอย่างถูกวิธี รู้วิธีอุ้มลูกน้อยเข้าเต้าในท่าต่างๆ ช่วงที่น้ำนมยังมาน้อย ให้ลูกดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมงได้เลยค่ะ ดูดข้างละ 15-20 นาทีต่อเนื่อง (ไม่ใช่ดูดไปหลับไป หรือดูดแบบเบาๆนะคะ) ให้ผลัดเต้าเป็นข้างแรก เพราะข้างที่ดูดก่อนจะกระตุ้นแรงกว่า เต้านมสองข้างจะได้สร้างน้ำนมได้เท่าๆกัน วิธีสังเกตว่าน้ำนมมาเต็มเต้าแล้วคือ เวลาที่ลูกข้างหนึ่ง แต่มีน้ำนมหยดออกมาจากอีกเต้าหนึ่งค่ะ ในระหว่างนี้คุณแม่ฉวยโอกาศทองปั๊มนมเก็บไว้ได้เลย ไม่ต้องรอให้ลูกตื่นมากิน เพราะเราสามารถเก็บไว้เป็นสต็อคในอนาคตได้เลย การปั๊มแบบนี้ไม่ใช่ปั๊มใส่ขวดเพื่อจะได้รู้ว่าแม่มีน้ำนมมากน้อยแค่ไหนนะคะ (เดี๋ยวจิตตก เพราะบางครั้ง ยิ่งการปั๊มช่วงแรกๆ คุณแม่อาจะจะได้มาแค่ก้นขวด ><) แต่เป็นการปั๊มเพื่อกระตุ้นหรือเรียกน้ำนมให้ออกจากเต้าให้ได้เยอะๆเมื่อเต้านมถูกกระตุ้น ให้เกลี้ยงเต้าบ่อยๆ ปริมาณน้ำนมก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นค่ะ
สำหรับคุณแม่ลาคลอดได้ไม่นาน ซึ่งอาจจะมีอุปสรรคทำให้ลูกน้อยไม่ได้ทานนมแม่อย่างต่อเนื่อง วิธีแก้ไขคือ การทำสต็อคน้ำนมให้ทัน
เพราะเมื่อคุณแม่กลับไปทำงานอาจจะยุ่งจนไม่มีเวลาปั๊มนมทุกๆ 3 ชั่วโมง จะทำให้ปริมาณการสร้างน้ำนมลดลงอย่างรวดเร็วค่ะ แต่หากคุณแม่รู้วิธีขโมยปั๊มนมออกมาเพื่อเก็บสะสมในช่วงที่ยังลาคลอดอยู่ รู้วิธีเก็บรักษาอย่างถูกวิธี รับรองคุณแม่จะประสบความสำเร็จในการสร้างสต็อคน้ำนมให้ลูกน้อยอย่างแน่นนอน ^-^
สิ่งสำคัญคุณแม่อย่าเพิ่งขี้เกียจ เบื่อ หรืออ้างเรื่องไม่มีเวลานะคะ เพราะนี่คือจุดอ่อน(หายนะ)ที่เป็นบ่อเกิดของอาการน้ำนมลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สต็อคน้ำนมไม่สำเร็จ
งั้นเรามาเริ่มขั้นตอนการขโมยน้ำนมคุณแม่ก่อนเลยค่ะ
1) เริ่มปั๊มได้เลยตั้งแต่หลังคลอด ว่างเมื่อไหร่ คุณแม่ก็ปั๊มออกมาได้เลย ไม่ต้องมัวแต่ห่วงเล่นเฟส เล่นไลน์ ติดเน็ต ดูทีวีนะคะ มือที่ว่างอยู่เอาที่ปั๊มนมมาเข้าเต้า เริ่มสะสมน้ำนมเตรียมไว้เลย ในขณะที่ปั๊มอาจจะฟังเพลงไปด้วย เล่นเน็ตไปด้วยพลางๆ จะได้เพลิน เพราะเดี๋ยวนี้เค้ามี Hand Free Bra ที่ช่วยอำนวยความสะดวกคุณแม่ไม่ต้องจับขวดนมหรือเครื่องปั๊มตลอดเวลา ก็สามารถปั๊มได้อย่างสะดวกแล้ว อย่ามัวแต่จ้องน้ำนมว่าเมื่อไหล่จะไหล เดี๋ยวน้ำนมอาย พาลจะไม่ไหลออกมาดื้อ ๆ ^^ แต่ถ้าคุณแม่เหนื่อยและเพลียมากๆ ไปนอนพักเลยค่ะ ห้ามปั๊ม เดี๋ยวเครียด
2) เครื่องปั๊มนมที่ดีช่วยคุณแม่ประหยัดเวลาในการปั๊มไปได้กว่าครึ่ง และคุณแม่สามารถปั๊มไปพร้อมกับที่ให้นมลูกน้อยอยู่ได้
การลงทุนซื้อเครื่องปั๊มนมที่ดี เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าคุ้มเวลา นอกจากนี้การเลือกเครื่องปั๊มที่ดี แม้จะแพง แต่ช่วยประหยัดในระยะยาวค่ะ เพราะจะช่วยปั๊มได้มากกว่า ช่วยประหยัดค่านมผงเดือนละ 3000-5000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเวลาลูกป่วย เด็กที่กินนมผงจะป่วยบ่อยกว่า 5-10 เท่าเลย
หากขณะปั๊มแล้วน้ำนมหยุดไหล ให้ใช้วิธีการทำจี๊ดค่ะ คือให้ใช้นิ้วถูเบาๆหรือดึงหัวนมเบาๆ หรือคลึงหัวนมเพื่อให้หัวนมแข็งชัน เป็นการกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน ทำให้น้านมไหล พุ่งออกจากเต้าได้ดีขึ้น การทำจี๊ด จะช่วยให้ปั๊มนมได้เร็วขึ้น เกลี้ยงเต้ามากขึ้นค่ะ
3) ใช้สูตรขโมยปั๊มนมทุกๆชั่วโมง ตอนกลางวันเมื่อยังไม่ได้กลับไปทำงาน
เช่น เวลาที่ลูกดูดเสร็จตอน 10 โมง คุณแม่พักซักชั่วโมงแล้วค่อยเริ่มปฏิบัติการขโมยน้ำนม ปั๊มออกมา 2 ข้างพร้อมกันนาน 10 นาที (ถ้าคุณแม่ปั๊มหลังจากให้ลูกดูดเสร็จใหม่ๆจะไม่ได้น้ำนมที่ใช้ทำสต็อคนะคะ แต่จะเป็นการเรียกน้ำนมให้ผลิตมากขึ้น)
เมื่อได้นมที่ปั๊มออกมาแล้วให้เก็บใส่ตู้เย็น โดยเทออกจากขวดที่ปั๊มไปเก็บใส่ถุงเก็บน้ำนมหรือขวดอีกใบ ถ้ายังปั๊มได้ไม่มาก แนะนำให้เทใส่ขวดก่อนแล้วค่อยเทใส่ถุงเก็บน้ำนมในคราวเดียวค่ะ จะได้ไม่ต้องเปิด-ปิดซิปล็อคของถุงบ่อยๆ ส่วนขวดที่ปั๊มคุณแม่ใช้ถุงสะอาดครอบส่วนที่เป็นกรวยปั๊มเพื่อไม่ให้สกปรก แล้วเก็บไว้ในตู้เย็นเหมือนกันค่ะ
พอถึงชั่วโมงถัดไปก็ไปเอาที่ปั๊มมาปั๊มนมทั้ง 2 ข้างออกมาเหมือนเดิม เทนมที่ได้รวมกันไว้ในขวดเดิมได้ภายใน 1 วัน พอหมดวันค่อยเก็บขึ้นช่องแข็งค่ะ
(ไม่แนะนำให้แช่แข็งทีละนิดแล้วเอานมที่เพิ่งปั๊มเสร็จไปเติมใส่ถุงเก่าเพราะจะทำให้นมที่แข็งไปแล้วละลาย และมันจะแข็งตัวเป็นชั้นๆค่ะ ทำให้นมมีกลิ่นเหม็นหืนมากกว่าน้ำนมที่ทำให้แข็งตัวในคราวเดียว แต่ถ้าทำไปแล้ว ไม่ต้องเททิ้งให้เสียของนะคะ ยังคงกินได้ แต่กลิ่นแรงไปหน่อยเท่านั้นเอง )
ที่ปั๊มนมให้คุณแม่ล้างและนึ่งเพียงวันละครั้งก็เพียงพอค่ะ จะได้ไม่เหนื่อยหรือเป็นภาระมากเกินไป ปั๊มนมได้เรื่อยๆทั้งวัน เพียงครั้งละ 10 นาที เวลาเอาลูกเข้าเต้า ก็สามารถปั๊มอีกข้างนึงเก็บไว้ได้ค่ะ
หากเป็นเวลากลางคืน คุณแม่ง่วงนอนจะนอนเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่ง่วงอยู่ปั๊มต่อซัก 10 นาทีหลังลูกดูดเสร็จจะจะช่วยให้เกลี้ยงเต้าและเก็บได้มากขึ้นค่ะ
เรามาดูวิธีการเก็บรักษานมแม่กันค่ะ
คุณแม่จะเห็นว่าเมื่อเราเก็บรักษาในช่องแช่แข็งชนิดพิเศษสามารถเก็บรักษาน้ำนมได้เป็นปี ( นมอายุ 1 ปี ยังมีประโยชน์กว่านมผงที่ชงใหม่ๆอีกนะคะ)
ให้คุณแม่เขียนวันที่กำกับไว้บนถุงเก็บน้ำนมนะคะ เมื่อต้องการใช้ ถ้าไม่แน่ใจให้ชิมดูก่อน ถ้าไม่เปรี้ยวถือว่าใช้ได้ แต่ถ้ามีกลิ่นเหม็นหืนหรือรสชาติไม่อร่อย ไม่ได้แปลว่านมเสียนะคะ
เวลาเอานมแช่แข็งมาใช้ ให้ย้ายจากช่องแข็งมาที่ช่องเย็นธรรมดาตอนกลางคืนก่อนให้ 1 วัน น้ำแข็งจะละลายกลายเป็นนมเย็น แล้วเอาออกมาเทใส่ขวดกินได้เลย ถ้านมแยกเป็นขั้นให้แกว่งขวดนมเบาๆ อย่าเขย่าแรงเดี๋ยวเซลล์เม็ดเลือดขาวแตก หรือเพื่อความรวดเร็ว ให้แช่ในแก้วน้ำอุ่นให้ละลายประมาณ 3-5 นาที ไม่ต้องรอให้นมอุ่นนะคะ เพราะนมเย็นๆจะมีคุณค่าดีกว่า
ห้ามใส่ไมโครเวฟหรือแช่น้ำร้อน เพราะจะเสียคุณค่า
หากคุณแม่เอาออกมาวางที่อุณหภูมิห้องแอร์ 25-27 องศาเซลเซียส แล้วยังไม่ได้กินจะอยู่ได้นาน 8 ชั่วโมงค่ะ ถ้ากินแล้วเหลือก็ยังอยู่ได้อีกประมาณ 4 ชั่วโมง แต่หากอากาศร้อนก็จะอยู่ได้สั้นลง
ไม่แนะนำให้เอานมที่ออกจากตู้เย็นแล้วกลับไปแช่เย็นหรือใส่ช่องแข็งอีกครั้งนะคะ เพราะจะทำให้เสียคุณค่า ควรใช้ให้หมด หรือทิ้งไปเลย
หากคุณแม่ปฏิบัติตามนี้ คุณแม่ก็สามารถสร้างสต็อคน้ำนมให้เจ้าตัวน้อยได้กินได้นานเท่าที่ต้องการ แถมคุณค่าของน้ำนมยังไม่ลดหายไปไหน ช่วยประหยัดค่านมผงและค่ารักษาพยาบาลจากอาการแพ้ได้สารพัด ^_^
แม่ยุ้ยขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเลี้ยงลูกน้อยด้วยนมแม่อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จนะคะ
คุณพ่อคุณแม่ดูคลิปวิธีการเก็บสต็อคน้ำนมได้จากที่นี่ค่ะ
ขอบคุณเจ้าของคลิป Sutheera Uerpairojkit
ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือสร้างชีวิตมหัศจรรย์ด้วยน้ำนมแม่ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (หน้า 142-146 )
ภาพสต็อคน้ำนมจาก แม่เปียน , แม่จ๋า & น้องอัยจัง
วันที่: Sat Apr 26 20:14:38 ICT 2025
|
|
|