Support
คุณแม่คุณลูก
0863003766
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

กลุ้มใจ เมื่อไม่มีน้ำนม !!! น้ำนมน้อย ไม่พอให้ลูกกิน (จริงหรือ !!! )

kunmaekunluke@gmail.com | 29-05-2557 | เปิดดู 3190 | ความคิดเห็น 0

สวัสดีค่า  มาฉบับนี้ แม่ยุ้ยขอแบ่งปันเรื่องกลุ้มใจของคุณแม่ดีกว่า

 

" กลุ้มใจจัง >< ไม่มีน้ำนม " 

 

" เต้านมเล็กอ่ะ   น้ำนมจะพอเลี้ยงลูกมั้ย >< "

 

" ฉันปั๊มนมได้นิดเดียวเอง ฮือ ฮือ T T น้ำนมน้อย (จริงหรือ!!!) "

 

" จะไปทำงานแล้ว ปั๊มนมสต็อคน้ำนมได้นิดเดียวเอง " 

 

  

 

 

 

อึ้มมมม..........สารพันเรื่องกลุ้มใจจริงๆค่ะ  อยากจะบอกคุณแม่เหลือเกินว่ามีคุณแม่อีกหลายท่านก็กลุ้มใจเรื่องนี้ค่า ^^ ไม่ใช่คุณแม่คนเดียวหรอกน๊า เห้อๆ  ยุ้ยเองก็เป็น !!!  (ขนาดยุ้ยไม่ต้องไปทำงานนอกบ้าน ปั๊มนมบางทีปั๊มแต่ลม น้ำนมมาแค่ออนซ์เดียว !!! จิตตก .... กลัวนมไม่พอให้ลูกกิน )

 

 งั้นเรามาหาคำตอบเรื่องเหล่านี้ ให้หายกลุ้มใจกันดีกว่าค่ะ 

 

 น้ำนมไม่พอ !!! จริงหรือ

 

อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ท้อแท้ใจ  หรือกลุ้มใจมากคือ ส่วนใหญ่มักเข้าไปไปเองว่า น้ำนมตนเองไม่พอ !!!  จนตัดสินใจให้นมผสมแก่ลูกน้อย ( ขอยกมือขึ้นค่ะว่ายุ้ยเอง ที่ทำแบบนี้ T T ช่วงในเดือน) จนเมื่อได้ไปปรึกษาคุณหมอ  คุณหมอถามคำเดียวว่า " มีด้วยหรือคะที่น้ำนมไม่พอ " ยุ้ยถึงกับอึ้งและจุกไปเลย  ก็เคยได้ยินมาตลอดว่าแม่บางคนไม่มีน้ำนม ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผสม   แม่ยุ้ยได้ศึกษาข้อมูลจนได้ความกระจ่างดังนี้นะคะ

 

เพราะอะไรจึงคิดว่า.....น้ำนมไม่พอ ???

เนื่องจากการให้นมแม่นั้น ไม่สามารถวัดปริมาณน้ำนมเป็นออนซ์ได้ค่ะ คุณแม่หลายท่านจึงไม่แน่ใจว่าที่ลูกดูดไปนั้นมีน้ำนมออกมารึเปล่า จะพอกับลูกมั้ย  ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องต่างๆเหล่านี้ก่อนคะ

 

ระยะเวลาของการดููดนม >>>

หากคุณแม่เอาลูกเข้าเต้าถูกวิธี จะทำให้ลูกได้รับประมาณน้ำนมเต็มที่  ดังนั้นหากลูกดูดนมเพียง 5 นาทีแล้วอิ่ม ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับน้ำนมไม่พอนะคะ  สิ่งที่คุณแม่ต้องสังเกตคือ ลักษณะการดูด ขณะดูดคางลูกชิดกับเต้านมงับให้ทั่วถึงลานนม  เต้านมมีลักษณะเคลื่อนไหว และหยุด นั่นก็เท่ากับลูกน้อยได้รับนมอย่างเต็มที่แล้วค่ะ แต่บางทีก็เป็นที่ลักษณะนิสัยของลูกน้อยอาจจะติดการดูด  คือดูดไปเรื่อย ชอบดูด  ถึงแม้จะอิ่มแล้วก็ยังทำปากจุ๊บๆอยู่ค่ะ   อีกกรณีถ้าดูดไม่ถูกวิธี ให้นมนาน 20 นาทีก็ไม่เกิดประโยชน์ ลูกน้อยงอแง แถมคุณแม่อาจจะเจ็บหัวนมได้ค่ะ

  

 

 

ไม่เคยคัดเต้านมเลย >>>

หากคุณแม่ไม่เคยตัดเต้านมก็ไม่ได้หมายความว่า มีน้ำนมน้อยนะคะ  ยิ่งถ้าเป็นลูกคนที่ 2 ด้วยแล้ว บางทีอาจจะไม่เคยคัดเต้าเลยก็ได้   และอีกปัจจัยคือ ปริมาณการเก็บน้ำนมในเต้าของคุณแม่แต่ละท่านไม่เหมือนกัน บางทีซ้ายกับขวาก็ยังไม่เท่ากันเลย  เต้านึงเก็บได้เยอะ อีกเต้าเก็บได้น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำนมคุณแม่จะไม่พอนะคะ  สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้แต่ละเต้าได้ผลิตน้ำนมออกมา   เทคนิคสำคัญคือ ยิ่งกระตุ้น น้ำนมก็จะผลิตมากขึ้น  ถ้าลูกน้อยติดเต้าข้างขวา คุณแม่ก็ต้องกระตุ้นข้างซ้ายด้วยการปั๊มนมออกมาบ่อยๆค่ะ  เพื่อให้เต้าข้างซ้ายยังคงผลิตน้ำนมออกมาอย่างสม่ำเสมอ  ถ้าละเลยไป อาจจะทำให้เต้าซ้ายผลิตน้อยลง เวลาปั๊มจะได้น้อยก็จะยิ่งเสียกำลังใจไปใหญ่

 

 

 ลูกงอแงหลังจากกินนมแม่ >>>

สาเหตุการงอแงมีหลายประการค่ะ ไม่สามารถวัดได้เลยว่าลูกร้องไห้อยากกินนมต่อ  ลูกอาจจะมีอาการปวดท้อง หรือไม่สบายตัว  และอย่าซีเรียสว่าต้องให้นมลูก 10-15 นาทีตามตำรานะคะ  เพราะระยะเวลาการดูดของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน  ลูกยุ้ย 45 นาที - 1 ชั่วโมงค่ะ เค้าถึงจะพอใจ และสิ่งสำคัญคือ เอาให้หมดเต้าแรก เอาให้เกลี้ยงไม่ต้องเปลี่ยนสลับเต้าไปมาค่ะ  (ให้นมรอบหน้าค่อยย้ายข้าง) ยิ่งช่วงในเดือน น้ำนมส่วนแรกจะมีแลคโตสเยอะ ทำให้ลูกอึได้ง่าย  แต่ถ้ามันเยอะมากเกินผลคือลูกจะอึบ่อยจนไม่สบายท้อง และจะมีอาการก้นแดง ร้องไห้งอแง   (ประสบการณ์ส่วนตัว ให้ข้างนึง 10 นาที แล้วสลับข้างให้ดูด เพราะคิดว่าจะทำให้น้ำนมมา 2ข้าง สรุปผิดถนัด ผลปรากฏเย็นวันนั้นต้องพาลูกไปหาหมอค่ะ อึบ่อยมาก คิดว่าลูกท้องเสีย ก้นแดง จนได้ยามาทา )

 

 

 

 

 (ขอบคุณภาพจากแฟนเพจคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ)

 

ปั๊มนมได้น้อย >>>

คุณแม่บางรายปั๊มนมเพราะอยากจะรู้ว่าตัวเองมีน้ำนมเยอะมั้ย จะได้น้ำนมกี่ออนซ์ (ยิ่งเห็นคุณแม่ท่านอื่นเก็บได้เต็มตู้ ก็ยิ่งใจเสีย)  ขอบอกว่า ปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ในวันแรกๆหลังคลอด อาจมีไม่มากนักเป็นเรื่องปกติค่ะ ยิ่งปั๊มไม่สม่ำเสมอ ปั๊มบ้าง ไม่ปั๊มบ้าง ปริมาณน้ำนมที่ได้ไม่สามารถบอกได้เลย  โดยเฉพาะคุณแม่ที่ปั๊มนมออกมาหลังจากลูกเพิ่งดูดเสร็จใหม่ๆ  ปั๊มได้ออกมาแค่นิดเดียวไม่ต้องเสียใจไปนะคะ  ธรรมชาติของร่างกายจะผลิตน้ำนมตามความต้องการของลูก เมื่อน้องอิ่มแล้วคุณแม่ปั๊มต่อ ช่วงแรกอาจจะไม่มีออกเลยด้วยซ้ำ  แต่ถ้าปั๊มต่ออยางอย่างสม่ำเสมอ รับรองมีออกแน่นอนค่ะ เพราะเต้านมถูกกระตุ้น  ร่างกายจะผลิตน้ำนมออกมาอีก  (เดี๋ยวเราจะมาว่าเรื่องการปั๊มนม เทคนิคการปั๊มนม การสต็อคน้ำนมกันในบทความหน้านะคะ)

สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรใส่ใจแทนความกังวลว่าปั๊มนมได้น้อยคือการให้ลูกได้ดูดนมอย่างถูกวิธี  เพราะหากลูกงับหัวนมไม่ถูกต้อง หรือไม่สามารถดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลต่อปริมาณน้ำนม และลูกก็จะไม่อิ่มซักทีค่ะ


 

มายาคติจากโฆษณา หรือจากข้อมูลที่ได้ยิน/เห็นมา >>>

คุณแม่บางท่านอาจจะได้ข้อมูลไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาล  จากโฆษณา หรือฉลากของนมผง ว่าต้องชงนม 3 ช้อนต่อน้ำ 3 oz วันละ 6-7 มื้อ  ทำให้เข้าใจไปว่าลูกคุณแม่ก็ควรจะได้รับนม 3 ออนซ์วันละ 6-7 มื้อด้วย  แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กบางคนอาจะได้นมแม่เพียง 2 ออนซ์ แต่ดูดบ่อยขึ้น หรือได้มากกว่า 3 ออนซ์ แต่ลดจำนวนมื้อลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะมีน้ำนมไม่พอนะคะ  ต้องเข้าใจเด็กแต่ละคนมีความต้องการต่างกัน และน้ำนมแม่เท่านั้นที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกเรา ไม่จำเป็นต้องเหมือนเด็กคนอื่น

 

คุณแม่พอจะหายข้องใจกันไปบ้างแล้วนะคะ ^_^

ทีนี้เราดูวิธีเพิ่มน้ำนมกันดีกว่า

น้ำนมคุณแม่จะผลิตตลอดเวลา ด้วยความเร็วที่ว่าเต้านมนั้นว่างหรือเต็ม น้ำนมที่ผลิตจะสะสมขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระหว่างเวลามื้อนมที่ให้ลูกดูดแต่ละครั้ง  เมื่อน้ำนมสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นหลังจากลูกดูดไปเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อน้ำนมเริ่มเต็มก็จะผลิตน้ำนมได้ช้าลงค่ะ    ถ้าคุณแม่ต้องการเพิ่มน้ำนมให้ผลิตมากขึ้นในแต่ละวัน  สิ่งที่ต้องทำคือ พยายามนำน้ำนมออกจากเต้าให้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น เช่น คุณแม่สามารถขโมยปั๊มนมออกก่อนถึงเวลานมลูกซัก 1 ชั่วโมง   เพื่อให้มีน้ำนมสะสมในเต้าในระหว่างมื้อน้อยลงค่ะ  และคุณแม่ไม่ต้องรอให้นมเต็มเต้าก่อนถึงค่อยปั๊มนมออกนะคะ สามารถปั๊มนมออกมาก่อนได้เลย  ยิ่งคุณแม่ปั๊มนมออกเยอะ น้ำนมก็จะยิ่งผลิตเยอะมากขึ้นค่ะ 


 

นั่นหมายความว่า หากต้องการเพิ่มน้ำนม จะต้องทำให้นมเกลี้ยงเต้าที่สุด เท่าที่จะทำได้ ตลอดทั้งวันด้วยวิธีต่างๆดังนี้ค่ะ

1. นำน้ำนมออกจากร่างกายให้บ่อยขึ้น  (โดยวิธีให้ลูกดูดบ่อยกว่าเดิม  หรือ ปั๊มออกระหว่างมื้อที่ลูกดูด หรือคุณแม่สามารถปั๊มนมอีกข้างไปพร้อมกับเวลาที่ลูกกำลังดูดนมอีกข้างหนึ่งได้เลย นอกจากจะทำให้น้ำนมอีกข้างผลิตได้มากขึ้น คุณแม่ยังเพิ่มจำนวนสต็อคน้ำนมได้อีก โดยไม่ต้องเสียเวลามากขึ้นค่ะ )

 

 

 2. พยายามทำให้นมเกลี้ยงเต้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการดูด หรือปั๊มแต่ละครั้ง หากลูกดูดเสร็จแล้วคุณแม่สามารถปั๊มนมส่วนที่เหลือในเต้าออกให้หมดเกลี้ยงได้เลยค่ะ   เพื่อให้เต้าว่างที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

 

3. ให้ลูกดูดนานเท่าที่ลูกต้องการเลยค่ะ   เอาให้ลูกพอใจแล้วค่อยเปลี่ยนข้าง

 

 

 

สัญญาณดี.....ว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมเพียงพอ 

น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ..... คือน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 110-225 กรัม ทุกสัปดาห์ในช่วง 3 เดือนแรก

การขับถ่าย ..... เด็กที่ได้รับน้ำนมเพียงพอจะปัสสาวะบ่อย และถ่ายมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน โดยอุจาระจะมีสีเข้มและเหนียว

ภายหลังหนึ่งอาทิตย์หลังคลอด..... อุจจาระของลูกจะมีสีอ่อนลง เป็นสีเหลือง และนุ่ม หากลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ หนูน้อยจะต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมวันละ 6-8 ครั้งค่ะ

 

 รู้หรือไม่ !!!  กระเพาะของเด็กแรกเกิด...มีขนาดเพียงลูกกอล์ฟเท่านั้นค่ะ ในช่วงวันแรกๆร่างกายของทารกจำเป็นต้องค่อยๆปรับตัว เช่นเดียวกับร่างกายคุณแม่  การได้รับนมแม่ครั้งละ 1 ช้อนชาจึงไม่เป็นปัญหาต่อลูกน้อยแต่อย่างใด ตราบเท่าที่คุณแม่ให้ลูกน้อยได้ดูดนมบ่อยๆ อย่างถูกวิธี  ทำให้นมเกลี้ยงเต้า  ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมเพิ่มมาขึ้นเอง 

 

รู้อย่างนี้แล้ว หายกลุ้มใจ แล้วหันมาเลี้ยงลูกแบบแฮปปี้กันดีกว่าค่ะ

 

 

 

 ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

www.breastfeedingthai.com

นิตยสาร First Year of Life

หนังสือสร้างชีวิตมหัศจรรย์ด้วยน้ำนมแม่ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

http://www.qatarchronicle.com/

http://mymillsbaby.co.uk/

http://ikkuma.com/

http://www.medindia.net/

http://www.stanfordchildrens.org/

 

 

 

 

 

 

 

   

ความคิดเห็น

วันที่: Sat Apr 26 20:17:03 ICT 2025

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0